top of page
ค้นหา

มูลค่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ผู้ผลิต ผู้บริโภค กระแส ใครกำหนด?


"ถ้าพูดถึงวงการภาพยนตร์ไทยคุณนึกถึงอะไร?"

"บทน่าเบื่อ ไม่หลากหลาย วนอยู่แต่แนวทางเดิม ๆ"

"ไม่ลงทุน โปรดักชันไม่อลังการ ไม่สร้างสรรค์"

"เนื้อหาไม่ออกนอกกรอบ ติดหล่มแต่เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ"

"ทำภาพยนตร์สะท้อนสังคม แต่ไม่ชี้นำสังคม"


เชื่อว่ายังมีหลายประโยคที่สะท้อนมุมมองวงการภาพยนตร์ไทยผ่านสายตาผู้บริโภคและผู้เสพสื่อความบันเทิงไทยอีกมากมาย ความคิดเห็นที่ดูไม่เป็นไปในทิศทางบวกจึงเกิดคำถามว่า ตกลงแล้วอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย "ไม่พัฒนา" อย่างที่หลายคนว่ามาจริง ๆ หรือมีปัจจัยอะไรที่ทำให้วงการภาพยนตร์ไทย "ไม่เติบโต" อย่างที่ควรจะเป็น


ถอยกลับมาดูภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกในช่วงที่ผ่านมา พบว่าปี 2565 ตลาดภาพยนตร์และความบันเทิงทั่วโลกมีมูลค่าราว 338,400 ล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2573 จะเติบโตขึ้นอีก 7.21% ซึ่งดูแล้วว่าในอนาคตอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะกลายเป็นที่ต้องการของทั่วโลก และถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กลุ่มธุรกิจผลิตภาพยนตร์ หรือกลุ่มธุรกิจ Streaming และโรงภาพยนตร์ มีการแข่งขันขันเพื่อให้อุตสาหกรรมเติบโต พร้อมทั้งก่อให้เกิดการสร้าง Soft Power ของแต่ละประเทศด้วย


แต่กลับกันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยไม่ได้มีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับตลาดโลก และไม่ได้ถูกผลักดันในแง่ของการสร้าง Soft Power เท่าไหร่นัก ซึ่งมูลค่าตลาดภาพยนตร์ไทยอยู่ที่ราว ๆ 26,000 ล้านบาท


โดยแหล่งรายได้ในอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็นตลาดภาพยนตร์ในประเทศ อาทิ การรับจ้าง Outsourcing, การผลิต Production และ Post-Production, Location Shooting การถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย, การขายลิขสิทธิ์ เป็นต้น


นอกจากนี้สัดส่วนของตลาดธุรกิจผลิตและการฉายภาพยนตร์ในโรงมีมูลค่าอยู่ที่ราว ๆ 3,000-4,000 ล้านบาท รวมไปถึงตลาดส่งออกภาพยนตร์ไปต่างประเทศที่มีสร้างรายได้ให้กับประเทศเฉลี่ยหลายร้อยล้านต่อปี


ถึงในปัจจุบันการส่งออกภาพยนตร์ไทยเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับปริมาณภาพยนตร์ที่ผลิตในไทยยังคงมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนภาพยนตร์ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งที่ผ่านมามีส่งออกภาพยนตร์ไทยไปต่างประเทศเพียง 13-15% จากทั้งหมด เนื่องจากเรานำเข้าภาพยนตร์มาซะเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดนี้มีผู้ผลิตรายใหญ่ประมาณ 10 รายเท่านั้น ถือเป็นธุรกิจกึ่งผูกขาดเมื่อเทียบกับฮอลลีวูดที่มีผู้ผลิตกว่า 100 ราย


และด้วยความที่อุตสาหกรรมกึ่งผูกขาดที่จึงส่งผลต่อ Marketshare สัดส่วนตลาดภาพยนตร์ที่ฉายในประเทศไทย โดยในในแถบกรุงเทพและปริมณฑล หรือตามหัวเมืองใหญ่ มีภาพยนตร์ไทยที่เข้าโรงสัดส่วนอยู่ที่ 25% และอีก 75% เป็นภาพยนตร์ต่างประเทศ ขณะที่โรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัด ภาพยนตร์ไทยมีสัดส่วนตลาดอยู่ที่ 70% และภาพยนตร์ต่างประเทศอยู่ที่ 30%


○ เพราะภาพยนตร์ไทยมีน้อย คนเลยเลือกไม่ดูหรือเปล่า?


จริง ๆ สัดส่วนการผลิตไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์สั้น ภาพยนตร์ยาว หรือแม้แต่ภาพยนตร์ที่ฉายตามเทศกาลทั้งในและต่างประเทศในแต่ละปีมีหลายเรื่องมาก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตรายเล็ก ๆ หรือตัวบุคคล และหากมองแค่ภาพยนตร์ไทยที่ขึ้นโรงภาพยนตร์เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 40 เรื่องต่อปี และเรื่องที่เป็นกระแสก็มีอยู่ที่ 1 ใน 4 ถือว่าน้อยมาก ปัจจัยหนึ่งเพราะไม่มีคนดูหรือเสพภาพยนตร์ไทยมากนัก


แต่จะบอกว่าคนไทยไม่เสพภาพยนตร์ไทยก็ไม่ถูกไปซะทั้งหมด เพราะด้วยความที่สื่อในปัจจุบันมีให้เลือกเสพหลากหลายช่องทาง ผู้บริโภคจึงมีทางเลือกเยอะกว่า มากกว่าการซื้อตั๋วเข้าไปรับชมในโรงภาพยนตร์


○ บทภาพยนตร์ดีแต่ไม่มีกระแสก็จุดติดยากจริงไหม?


ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า 'กระแส' เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการพูดถึงบอกต่อซึ่งอิมแพคต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เมื่อกระแสเกิด เม็ดเงินก็ไหลเข้ามาและเกิดมูลค่าต่อแบรนด์หรือสินค้า แน่นอนว่าภาพยนตร์เองก็เช่นกัน เพราะถ้าเรามีเพียง Supply แต่ไม่มี Demand โอกาสของภาพยนตร์ใหม่ ๆ ที่เข้าโรงจะกอบโกยรายได้ก็ยากที่จะเกิดขึ้น แม้ว่าโปรดักชัน หรือบทภาพยนตร์จะดีแค่ไหนก็ตาม


และจากที่ผ่านมาแนวภาพยนตร์ที่ครองใจผู้คนและครองตลาดมาอย่างยาวนานคือภาพยนตร์แนว ตลก/คอมเมดี้ รองลงมาเป็นแอคชัน ดราม่า และสยองขวัญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจุดที่เข้าถึงคนดูได้มากที่สุดคือการสร้างเนื้อหาที่ทัชใจ และเป็น Insight ที่เกี่ยวกับคนหมู่มาก


○ วงการภาพยนตร์ต้นทุนสูง ความเสี่ยง(เจ๊ง)สูง ผลตอบแทนสูง


หลายคนอาจไม่รู้ว่าภาพยนตร์ 1 เรื่องใช้ระยะเวลาในการถ่ายทำและโปรดักชันราว ๆ 8 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น และหากเป็นภาพยนตร์ที่จะฉายในโรงภาพยนตร์ต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง โดยต้นทุนจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ต้นทุนการสร้าง และต้นทุนการทำการตลาด หรือ PR Marketing สำหรับภาพยนตร์ไทยต้นทุนเฉลี่ยในการผลิตอยู่ที่ประมาณ 10-50 ล้านบาท และสัดส่วนของต้นทุนการผลิตและการตลาดแทบจะครึ่งต่อครึ่ง และใช้งบที่สูงพอ ๆ กัน


ตัวอย่าง


บริษัท A กำหนดงบประมาณการผลิตภาพยนตร์ไว้ที่ 45 ล้านบาท

แบ่งเป็นต้นทุนการสร้างอยู่ที่ 30 ล้านบาท

และต้นทุนการทำการตลาดอยู่ที่ 15 ล้านบาท


เมื่อผู้ผลิตภาพยนตร์แบกรับต้นทุนที่สูง สิ่งที่มาพร้อมกันคือความเสี่ยงที่จะเจ๊งก็มีมากหากทำรายได้ไม่ถึงเป้าที่หวังไว้ ดังนั้นงบประมาณในส่วนของการทำตลาดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอีกอย่างนึงที่วัดกันว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่


○ สัดส่วนผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยและโรงภาพยนตร์ไทย


อย่างที่บอกว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยค่อนข้างมีความผูกขาดทางการตลาด ผู้เล่นที่ทำรายได้และมีกำไรจึงมีไม่เยอะ ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่ที่เราเห็นและที่รู้จักกัน ได้แก่ GDH 559, พระนครฟิลม์, ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น, สหมงคลฟิล์ม, M Pictures ขณะที่โรงภาพยนตร์มีเจ้าใหญ่ ๆ อยู่ 2 ราย ได้แก่ MAJOR ที่ครองตลาดธุรกิจโรงภาพยนตร์ 70% และอีก 30% เป็น SF และโรงภาพยนตร์ Stand Alone รายอื่น ๆ ตามจังหวัดในแต่ละภูมิภาค


สำรวจรายได้ของผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยและโรงภาพยนตร์ไทยในช่วงที่ผ่านมา

งบการเงินธุรกิจผู้ผลิตภาพยนตร์ไทย


บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด

รายได้ ปี 65 311 ล้านบาท

กำไร ปี 65 49 ล้านบาท


บริษัท พระนครฟิลม์ จำกัด

รายได้ ปี 65 64 ล้านบาท

กำไร ปี 65 4.1 ล้านบาท


บริษัท ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น จำกัด

รายได้ ปี 65 109 ล้านบาท

กำไร ปี 65 28 ล้านบาท


บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รายได้ ปี 65 262 ล้านบาท

กำไร ปี 65 -2.1 ล้านบาท


บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด รายได้ ปี 65 173 ล้านบาท

กำไร ปี 65 19 ล้านบาท


งบการเงินธุรกิจโรงภาพยนตร์ไทย


บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)

รายได้ ปี 65 3,980 ล้านบาท

กำไร ปี 65 281 ล้านบาท


บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

รายได้ ปี 65 2,595 ล้านบาท

กำไร ปี 65 -85 ล้านบาท


○ รายได้โรงภาพยนตร์มาจากไหน?


นอกจากรายได้จากการขายตั๋วภาพยนตร์แล้ว ยังมีรายได้อื่น ๆ ได่แก่ การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มหน้าโรงภาพยนตร์, การขายพื้นที่สื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ เป็นต้น และมีในเรื่องของสัดส่วนรายได้ที่ทางโรงภาพยนตร์ตกลงเปอร์เซ็นร่วมกันทางผู้ผลิต โดยขึ้นอยู่กับข้อตกลงร่วมกัน


ตัวอย่าง


ผู้ผลิต A นำภาพยนตร์เข้าฉายโรงภาพยนตร์โดยตกลงส่วนแบ่งว่า ผู้ผลิตได้ 40% โรงภาพยนตร์ได้ 60% เป็นต้น

หากภาพยนตร์มีรายได้ 100 ล้านบาท

ผู้ผลิตจะได้ 40 ล้านบาท

และโรงภาพยนตร์ได้ 60 ล้านบาท


แต่บางครั้งรายได้ที่ผู้ผลิตได้รับมาก็อาจจะทำกำไรให้กับบริษัทไม่ได้ หากมีต้นทุนการผลิตสูง และนอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ อย่างโปรดักชันช่วง Pre-Pro-Post หรือแม้แต่ PR Marketing อย่างตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นหาก ผู้ผลิตได้รายได้ 40 ล้านบาท จากรายได้ทั้งหมด 100 ล้าน โดยมีต้นทุนการผลิต 50 ล้านบาท นั่นหมายความว่าผู้ผลิตก็ยังคงขาดทุนจากการทำภาพยนตร์อยู่ดี


○ รายได้มาจากหลายส่วน ทำไมตั๋วภาพยนตร์ถึงแพง?


ในปัจจุบันหากเห็นราคาตั๋วแล้วคงต้องปาดเหงื่อหากคิดจะเข้าไปดูในโรงแต่ละครั้ง เพราะราคาตั๋วสูงตอนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 200-280 บาท ซึ่งต้นทุนของตั๋วภาพยนตร์ที่สูงขึ้นก็มาจากสภาวะเศรษฐกิจ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการฉาย นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ ที่รวมไปกับตั๋วภาพยนตร์ เช่น ค่าอุปกรณ์ ค่าพื้นที่ ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างพนักงาน เป็นต้น


ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะไม่เข้าโรงภาพยนตร์ และรอดูจากแอปสตรีมมิง เพราะหลายคนอาจไม่ได้มีกำลังจ่ายในการเข้าไปดูภาพยนตร์ในโรงทุกเรื่อง และมองว่าสิ่งนี้คือ "สินค้าฟุ่มเฟือย" หากจะต้องจ่ายเงินเข้าไปดูผู้บริโภคต้องเลือกสิ่งที่คิดว่าคุ้มค่าที่สุดในการเข้าไปรับชม


เมื่อคนเข้าโรงภาพยนตร์น้อย ทำให้เกิด Over Supply ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มรายได้ที่พอจะเป็นไปได้อย่างการขายตั๋วเข้าไป ทำให้ราคาสูงเกินความจำเป็น ซึ่งในส่วนนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะต้องมีการควบคุมกำกับดูแลไม่ให้ Overprice และให้กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางสามารถเข้าถึงสื่อบันเทิง และเลือกเสพสื่อได้ตามต้องการได้ด้วยเช่นกัน


○ ภาพยนตร์ไทยและ Soft Power ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


การกำหนดทิศทางของภาพยนตร์ไทยโดยเฉพาะฝั่งผู้ผลิตถูกตีกรอบด้วยข้อจำกัดที่เยอะมาก นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่จึงยังมีความกังวลใจว่าหากผลิตแล้วจะผ่านไหม จะไปกระทบกับใคร นายทุนจะซื้อเนื้อเรื่องแนวนี้หรือเปล่า มากมายเต็มไปหมด ซึ่งในปัจจุบันผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ต่างก็พยายามที่จะสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ เช่นกัน


และการที่ภาพยนตร์ไทยจะขับเคลื่อน และก่อให้เกิดการเติบโตในอุตสาหกรรมได้ ไม่ได้เกิดจากการลงแรงของผู้ผลิตแต่เพียงผู้เดียว แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากหลากหลายฝ่าย ซึ่งหากผู้ที่เกี่ยวข้องทลายกรอบข้อจำกัดต่าง ๆ เหล่านี้ เชื่อเถอะว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจะกลายเป็น Soft Power หรืออาวุธที่ไม่ได้เพียงแต่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ แต่ยังส่งเสริมและผลักดันวัฒนธรรมออกสู่สากลโลก เหมือนอย่างเช่น เกาหลีใต้ที่วางรากฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์และสื่อบันเทิงมานานจนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก และผู้ผลิตรายเล็ก ๆ ก็จะได้ก้าวสู่ในเส้นทางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ มีผู้เล่นในตลาดเพิ่มมากขึ้น มีทางเลือกให้ผู้บริโภคได้เลือกเสพความบันเทิงหลากหลายในราคาที่จับต้องได้ เพราะสุดท้ายแล้วคนทำภาพยนตร์ไทยสิ่งที่ต้องการมากว่าการได้รางวัลคือ "เงินทุน" ที่จะนำไปสร้างสรรค์ผลงาน และพื้นที่ที่จะทำให้คนตัวเล็ก ๆ ได้เติบโต...



แหล่งอ้างอิง : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ, bangkokbiznews, marketeeronline, ibisworld, grandviewresearch, tcijthai

 

ทดลองใช้งาน Corpus X B2B Data Analytics Platform คลิก! www.corpusx.bol.co.th/contact


Comments


bottom of page