เจาะลึก! "Reciprocal Tariff" ภาษีตอบโต้ฉบับทรัมป์ ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไร?
- rattanuta
- 4 วันที่ผ่านมา
- ยาว 1 นาที

เศรษฐกิจโลกกำลังปั่นป่วน ภายหลังจากที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ครั้งประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อจัดการกับปัญหาการขาดดุลการค้าเรื้อรัง และเป็นการช่วยให้สหรัฐฯ เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าทั่วโลก และประเทศต่าง ๆ กว่า 180 ประเทศ
บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายภาษี Reciprocal Tariff ว่าคืออะไร เพราะจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2025 นี้ พร้อมสาเหตุของการใช้นโยบาย ผลกระทบที่เกิดขึ้น และแนวทางการรับมือของธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และ SMEs เพื่อปรับตัวต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ "ภาษี Reciprocal Tariff" คืออะไร?
Reciprocal Tariff คือ มาตรการภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ (Ad Valorem Tariff) ที่สหรัฐอเมริกากำหนดขึ้นกับสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะในกรณีที่อีกฝ่ายกำหนดภาษีการค้าหรือมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่เท่าเทียมกับสินค้าจากสหรัฐฯ
ทำไม? "โดนัลด์ ทรัมป์" ต้องประกาศใช้นโยบาย "ภาษีตอบโต้ Reciprocal Tariff"
1.การขาดดุลการค้าสินค้าที่สูงและต่อเนื่อง
สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสินค้ากับหลายประเทศมานาน ในปี 2024 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสินค้าสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ฐานการผลิตในประเทศอ่อนแอลง
2.ตอบโต้อัตราภาษีที่ไม่เท่าเทียม
ในขณะที่สหรัฐฯ มีอัตราภาษีนำเข้า MFN (Most-Favored Nation) ค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยอยู่ที่ 3.3% แต่หลายประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักตั้งกำแพงการเสียภาษีนำเข้าสูงกว่าหลายเท่า เช่น
- อินเดีย (17%)
- จีน (7.5%)
- สหภาพยุโรป (EU) (5%)
- เวียดนาม (9.4%)
ทรัมป์จึงต้องการให้ “เท่าเทียม” ด้วยการตั้งภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านั้นในอัตราใกล้เคียงกัน
3.กดดันประเทศคู่ค้าเปิดตลาด
หลายประเทศใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) เช่น กฎระเบียบซับซ้อน, การกีดกันข้อมูล, มาตรฐานทางเทคนิค, ข้อจำกัดลิขสิทธิ์, การบิดเบือนค่าเงิน, ระบบภาษี VAT ที่บิดเบือนการแข่งขัน
หรือการอุดหนุนสินค้าในประเทศ ทรัมป์ต้องการใช้นโยบายภาษีเป็น “ไม้แข็ง” กดดันให้ประเทศเหล่านี้เปิดตลาดมากขึ้นสำหรับสินค้าจากสหรัฐฯ
4. กระตุ้นการผลิตในประเทศ
เมื่อสินค้านำเข้าถูกเก็บภาษีสูงขึ้น ผู้บริโภคและธุรกิจในสหรัฐฯ ก็จะหันมาใช้สินค้าภายในประเทศมากขึ้น ลดการนําเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสนับสนุนแรงงาน-การผลิตภายในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับฐานเสียงหลักของทรัมป์คือกลุ่มอุตสาหกรรมและแรงงาน
6. ใช้กฎหมายความมั่นคงเศรษฐกิจเป็นฐานอำนาจ
ทรัมป์อาศัยอำนาจตามกฎหมายความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการค้า ของสหรัฐฯ ซึ่งอนุญาตให้รัฐบาลสามารถตั้งภาษี เพื่อตอบโต้ประเทศที่กระทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือส่งผลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐฯ
ภาษีตอบโต้ Reciprocal Tariff กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง?
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2568 การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ อาจหดตัวลงถึง 10% เนื่องจากความต้องการสินค้าจากไทยลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานยนต์ ยางล้อ และอาหาร ทำให้ผู้ประกอบการอาจปรับลดราคาสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดขายได้น้อย
นอกจากนี้ ไทยยังอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกับสินค้าจากจีนที่หันไปเจาะตลาดอื่นแทนสหรัฐฯ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น พลาสติก ฯลฯ และยังอาจถูกกระทบผ่านห่วงโซ่อุปทาน จากการส่งออกชิ้นส่วนไปยังจีน อาเซียน และ EU ที่ส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ ได้น้อยลงเพราะโดนเก็บภาษีสูงขึ้นเช่นกัน
ผลกระทบต่อภาคธุรกิจแต่ละขนาดของไทย
● ธุรกิจขนาดใหญ่
1.ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
บริษัทที่พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าจากต่างประเทศต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากภาษีนำเข้า
2.ต้องปรับกลยุทธ์ซัพพลายเชน
หลายบริษัทควรเริ่มพิจารณาย้ายฐานการผลิต หรือหาซัพพลายเออร์ใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่สูงขึ้น
● ธุรกิจขนาดเล็ก และ ธุรกิจ SMEs
1.ความสามารถในการแข่งขันลดลง
ธุรกิจขนาดเล็กมักไม่มีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ หรือเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องปรับราคาสินค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อยอดขาย
2.ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจกระทบต่อกระแสเงินสด และความสามารถในการดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง
แนวทางการรับมือและปรับกลยุทธ์ของธุรกิจ
1.การกระจายซัพพลายเชน
หาซัพพลายเออร์จากประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีตอบโต้สูง หรือเปลี่ยนมาผลิตภายในประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าสินค้า
2.เจรจากับซัพพลายเออร์
เจรจาต่อรองราคา หรือเงื่อนไขการชำระเงิน เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
3.การปรับกลยุทธ์การตลาด
เน้นตลาดภายในประเทศ หรือกลุ่มลูกค้าที่มีความยืดหยุ่นด้านราคา เพื่อรักษายอดขาย
4.ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต
นโยบายภาษี Reciprocal Tariff ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสมดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้า แต่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยเฉพาะในด้านต้นทุนและความสามารถในการแข่งขัน ธุรกิจจึงควรปรับกลยุทธ์และดำเนินงานเชิงรุก เพื่อให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้มากที่สุด
หากคุณไม่อยากตัดสินใจทางธุรกิจผิดพลาด คุณสามารถวางแผนกลยุทธ์ล่วงหน้าได้ เพราะเราอยู่ในยุคที่ “ใครมีข้อมูลที่แน่น และวิเคราะห์ได้แม่นกว่า คนนั้นได้เปรียบ” เตรียมพร้อมแผนธุรกิจสู้ศึกภาษีทรัมป์ รับมือกับตลาดโลกที่ผันผวน ด้วย Corpus X B2B Data Analytics Platform เครื่องมือที่จะช่วยให้คุณ ติดตามเทรนด์ รู้ก่อน วางแผนก่อนใคร ทดลองใช้งานฟรี! คลิก https://bit.ly/contact_cpxlead
ขอบคุณข้อมูลจาก BBC, ABC News, Yahoo Finance, CBS News, KResearch
ขอบคุณรูปภาพจาก Donald J. Trump