top of page

Muketing การตลาดสายมู กลยุทธิ์แบบไทยๆ ที่มีมูลค่าหมื่นล้าน

  • รูปภาพนักเขียน: Corpus X
    Corpus X
  • 24 ต.ค. 2566
  • ยาว 2 นาที

อัปเดตเมื่อ 19 ก.พ.


การตลาดสายมู Muketing

Muketing สายมูแรงไม่แผ่ว! ตอนนี้หันไปทางไหนหรือถามคนรอบข้างว่าเป็นสายมูไหม? 3 ใน 4 คนต้องพยักหน้าแล้วถามกลับทันทีว่า แล้วคุณล่ะนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์ไหน มีวอลเปเปอร์เสริมดวงไหมเป็นแน่...

ล่าสุดก็มีกระแส "i told พระแม่ลักษมี about..." ที่โด่งดังเป็นไวรัลใน Tiktok เป็นเทรนด์ฮิตพูดถึงกันอย่างไม่มีพัก หรือคอนเทนต์แนวแชร์พิกัดสถานที่ขอพรเรื่องงาน โชคลาภปัง ๆ ที่คนแห่กรูกันไปสถานที่นั้นไม่หยุดหย่อน


นอกจากนี้สายมู ได้ขยายกว้างไปยังหลากหลายวงการ เช่น วงการแฟชัน เครื่องสำอาง เครื่องประดับ การท่องเที่ยว ฯลฯ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องรางทั้งกำไล หินมงคล กระเป๋าสตางค์ วอลเปเปอร์เสริมดวง ให้คนได้ใช้เสริมมงคลกัน


อะไรเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ "การมูเตลู" เป็นเทรนด์ในทุกวันนี้จนก่อให้เกิดแบรนด์ใหม่ ๆ กลายเป็น "ธุรกิจสายมู" ที่สร้างรายได้หลักหมื่นล้าน หรือแม้แต่การทำการตลาด "Muketing" ที่แบรนด์ดังต่างก้าวตัวเข้ามาเล่นในการตลาดสายมูครั้งนี้ด้วย Corpus X จะไปเจาะลึกอินไซต์เรื่องราวเหล่านี้กัน


การมูเป็นเรื่องที่อยู่กับคนไทยมาเป็นเวลานาน หากย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดกระแสคงไม่พ้นช่วงพิษเศรษฐกิจ ที่ทำให้หลายคนต้องการ "ที่พึ่งทางจิตใจ" เพื่อสร้าง "ความสบายใจ" ให้กับตัวเองกัน และการไหว้พระ เทพ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือคำตอบของความสบายใจนี้


ในช่วงที่ผ่านมาพบสถิติว่าคนไทยกว่า 52 ล้านคน จากราว ๆ 70 กว่าล้านคน ซึ่งคิดเป็น 74% ของจำนวนคนไทยทั้งประเทศ มีความเชื่อในเรื่องของการมูและเช็กดวงชะตา


เพศหญิงกว่า 70% มีความเชื่อเรื่องการมู ดูดวง โชคชะตา จึงไม่แปลกใจที่หลาย ๆ ธุรกิจต่างหยิบจับเรื่อง "สายมู" มาเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการทำ "การตลาด" เพื่อสร้าง Engagement ให้กับแบรนด์


กลุ่ม Segment ที่เป็นกำลังสำคัญของตลาดนี้คือ กลุ่ม Gen Y มากถึง 43.4%

ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 26-42 ปี ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความชอบเรื่องของการมู และยังเป็นกลุ่มวัยทำงานที่มีกำลังเงินในการจับจ่ายซื้อสินค้าสูง ทำให้หลาย ๆ แบรนด์จึงเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่คนวัยนี้เป็นหลัก และรองลงมาก็จะเป็น

  • กลุ่ม Gen Z 21.6%

  • กลุ่ม Gen X 17.4%

  • กลุ่ม Baby Boomer 6.7%


5 รูปแบบการมูที่คนไทยสายมูส่วนใหญ่นิยมมากที่สุด ได้แก่

  • การดูดวง 68.1%

  • ทำบุญ 57.9%

  • เครื่องรางนำโชค 42.8%

  • สีและเลขมงคล 36.9%

  • สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 27.5%


เรื่องที่คนส่วนใหญ่ขอมากที่สุดคือ

  • เรื่องความรัก 40%

  • การเงินและโชคลาภ 35%

  • การงาน 25%


การเติบโตของธุรกิจสายมูไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้ เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีนักลงทุนและชาวต่างชาติหันมาให้ความสนใจในเรื่องของสายมูคนไทยกันเยอะมากขึ้น โดยเป็นนักลงทุนจากจีนราว 2.4% และฝรั่งเศส 0.96% แม้ตัวเลขอาจจะไม่สูงนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากคนไทยแล้ว "สายมู" ก็นับได้ว่าเป็น Soft Power ที่ผลักดันเศรษฐกิจไทย ที่หยิบยกประเด็น "ความเชื่อ" มาดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จนทำให้ตลาดนี้โตขึ้นมากถึง 10,800 ล้านบาท


การนำเอาความเชื่อ สิ่งลี้ลับ โหราศาสตร์ การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการทำนายดวงชะตา มาผสมผสานเข้ากับกลยุทธ์การตลาดธุรกิจจึงไม่ใช้เพียงแค่ได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ยังสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจและแบรนด์ต่าง ๆ ด้วย จะเห็นได้ว่ามีหลายธุรกิจเปิดใหม่ที่ให้บริการในเรื่องของสายมูโดยเฉพาะ หรือแบรนด์ที่เลือกสายมูมาทำการตลาด ตัวอย่างเช่น


ตัวอย่างแบรนด์/ธุรกิจที่ใช้การตลาด Muketing


  • Tinder x พระตรีมูรติ เป็นแคมเปญเนื่องในวันวาเลนไทน์ที่จัดขึ้นร่วมกันระหว่าง Tinder และ centralwOrld ที่ต้องการดึงดูดกลุ่มคนโสดสายมูมาร่วมตัวร่วมกิจกรรมหน้าลานเซ็นทรัลเวิลด์ มาปัดขวาหาคู่ที่ใช่กันในบริเวณนั้น

  • LINE ที่ทำคอนเทนต์สายมูเกี่ยวกับการดูดวงประจำวัน เสี่ยงเซียมซี แชร์ทริคเกี่ยวกับการมูต่าง ๆ ในชื่อว่า LINE ดูดวง

  • ค่ายโทรศัพท์มือถือ เช่น DTAC AIS ที่นำนักพยากรณ์มาเป็นพรีเซนเตอร์ในแคมเปญต่าง ๆ เช่น ซื้อมือถือใหม่ พร้อมเปิดเบอร์มงคล เป็นต้น

  • Grab แคมเปญซื้อโค้ดกับ Grab แจกวอลเปเปอร์เสริมดวง


จะเห็นได้เลยว่าการทำการตลาดสายมูสามารถพลิกแพลงได้หลายอย่างมาก โดยที่ไม่ได้ลงทุนเงินจำนวนมาก เพราะต้นทุนของการทำธุรกิจสายมูนี้คือ "ความเชื่อ" และหากแบรนด์หรือธุรกิจสามารถสร้าง Storytelling ให้แตกต่างจากคู่แข่งคนอื่น ๆ ได้ ก็จะช่วยให้แข็งแกร่งเหนือคนอื่น ๆ ได้


ต่อมา Corpus X ก็จะพาคุณมาสำรวจบริษัทที่เติบโตด้วยการนำ "สายมู" มาปรับใช้กับธุรกิจ จะมีเจ้าไหนที่รู้จักกันบ้าง?


รายได้กลุ่มธุรกิจที่ใช้การตลาด Muketing


a ดวง - แพลตฟอร์มดูดวง

บริษัท อุ๊คบี จำกัด

  • รายได้ ปี 65 173 ล้านบาท

  • กำไร ปี 65 -167 ล้านบาท


ระวิภา - เครื่องประดับสายมู

บริษัท ระวิภา จิวเวลรี่ จำกัด

  • รายได้ ปี 65 175 ล้านบาท

  • กำไร ปี 65 8.5 ล้านบาท


ไลลา - เครื่องประดับสายมู

บริษัท ไลลา อมูเลทส์ จำกัด

  • รายได้ ปี 65 47 ล้านบาท

  • กำไร ปี 65 636,416 บาท


โฮโรวอล - วอลเปเปอร์สายมู

บริษัท โฮโร วอล จำกัด

  • รายได้ ปี 65 138 ล้านบาท

  • กำไร ปี 65 -14 ล้านบาท


ธุรกิจสายมูเป็นสิ่งที่ทำคนธุรกิจไม่ควรมองข้าม เพราะอาจมีจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในความเชื่อที่หยิบมาสร้างกลยุทธ์ที่น่าสนใจให้กับแบรนด์ และเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้แบบไม่รู้ตัว เพราะทุกวันนี้เรื่องการมูแทบจะอยู่รอบตัวเราหมดแล้ว แล้วคุณล่ะมีคนรู้จักที่เป็นสายมูบ้างไหม? หรือคุณก็เป็นหนึ่งในคนที่มูด้วยเหมือนกัน


การตลาดสายมู Muketing

Muketing โอกาสธุรกิจจากกระแสความเชื่อ เทรนด์สายมูไม่ได้เป็นเพียงกระแสชั่วคราว แต่ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมผู้บริโภคและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ และแบรนด์ที่เข้าใจอินไซต์เหล่านี้สามารถใช้ Muketing เป็นกลยุทธ์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและสร้างความผูกพันกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ


หากคุณต้องการเจาะลึกข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค ลองมองหาเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณเห็นแนวโน้มธุรกิจและโอกาสทางการตลาดจากฐานข้อมูลเชิงลึก ทดลองใช้ Corpus X เพื่อก้าวนำในการสร้างกลยุทธ์ที่เจาะใจผู้บริโภคยุคใหม่กัน

แหล่งอ้างอิง : MarketThink, Thaitath, brandbuffet








bottom of page