10 ปีผ่านมา ธุรกิจโรงไฟฟ้าไทยเติบโตขึ้นมาแค่ไหน?
ธุรกิจโรงไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตจากความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศมากขึ้นที่ไม่ใช่เพียงแค่ภาคครัวเรือน แต่รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก นั่นจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราการเติบโตของกลุ่มธุรกิจนี้เพิ่มสูงขึ้น
ความน่าสนใจคือกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าสามารถขยายฐานการเติบโต และทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง แม้อยู่ท่ามกลางวิกฤติต่าง ๆ และความผันผวนทางเศรษฐกิจ
อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้เติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ?
ปัจจัยหลักมาจากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น เหตุมาจากสภาพอากาศที่ร้อน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นกำหนดทิศทางการเติบโตของกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้า คือการผลักดันจากนโยบายภาครัฐ เช่น แผนกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย, นโยบายราคารับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น และในปัจจุบันภาคเอกชนมีบทบาทในการเข้ามาผลิตกำลังไฟฟ้ามากกว่า 50%
นโยบายภาครัฐเป็นตัวกำหนดทิศทางการเติบโตธุรกิจอย่างไร ?
ในอดีตราว ๆ 30 ปีที่แล้วได้มีการยกเรื่องนโยบายและงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าขึ้นมา เหตุเพราะการผลิตไฟฟ้าต้องใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูง รัฐบาลในตอนนั้นจึงได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านงบประมาณการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า จากเดิมที่เป็นหน่วยงานภาครัฐเป็นเจ้าของก็ตัดสินใจให้เอกชนเข้ามาสร้างโรงไฟฟ้า และผลิตไฟฟ้าขายให้กับหน่วยงานภาครัฐ โดยมีการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้ากับ กฟผ. และมีการประมูลการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ตามปริมาณกำลังการผลิตของผู้ผลิตไฟฟ้า
นั่นหมายความว่ารายได้หลักของกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้ามาจากการขายไฟฟ้าให้กับหน่วยงานภาครัฐ ค่าเชื้อเพลิงการผลิต ปริมาณการผลิตที่อาจปรับเปลี่ยนได้อยู่เสมอ นอกจากนี้ในสัญญาซื้อไฟฟ้าได้มีการระบุในเรื่องของ ค่าความพร้อมจ่าย หรือค่า AP ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าไว้ด้วย
ค่าความพร้อมจ่าย สิ่งที่สำคัญในสัญญาระหว่างภาครัฐและเอกชน
สิ่งที่ทำให้ธุรกิจโรงไฟฟ้ามีโอกาสในการขาดทุนน้อยกว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ คือในเรื่องของค่าความพร้อมจ่ายที่ กฟผ. ยังคงต้องจ่ายให้กับภาคเอกชน แม้ว่าจะมีความต้องการการผลิตกำลังไฟฟ้าน้อยลงก็ตาม เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับให้ภาคเอกชนพร้อมสำหรับการจ่ายกำลังไฟฟ้าให้กับภาครัฐตลอดเวลา
ปัจจุบันค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.70 บาท หากย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 3.70 บาท และในปี 2565 ที่ผ่านมามีการปรับฐานต้นทุนการผลิต และการคำนวณค่า Ft ใหม่ ส่งผลให้ค่าไฟพุ่งสูงขึ้นหน่วยละ 4.72 บาท
เมื่อดูรายละเอียดพบว่ามีต้นทุนค่าใช้จ่ายประกอบไปด้วย เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้า, ค่าความพร้อมจ่ายในการก่อสร้างผลิตกำลังไฟฟ้า, ค่าระบบจำหน่ายไฟฟ้าแก้ผู้ใช้ไฟฟ้า, ระบบสายส่งของ กฟผ. ชำระหนี้คืน กฟผ. ในกรณี กฟผ.รับค่าใช้จ่าย Ft, ต้นทุนการดำเนินการตามนโยบายรัฐ ดังนั้นเมื่อต้นค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น โดยมาจากราคาเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ปรับเปลี่ยนตามราคาน้ำมัน และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูง จึงทำให้ค่าไฟต้องปรับสูงขึ้นตาม
มาถึงตรงนี้อาจมองเห็นภาพรวมของธุรกิจโรงไฟฟ้ากันพอสมควรแล้วว่าเป็นอย่างไร ต่อมา Corpus X จะพาคุณมาสำรวจธุรกิจโรงไฟฟ้า ผ่านแต่ละบริษัท ว่าในช่วง10 ปีที่ผ่านมามูลค่าบริษัทเติบโตแค่ไหนกันบ้าง
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) – (GULF)
มูลค่าบริษัท 604,257 ล้านบาท
รายได้ ปี 56 43.19 ล้านบาท
กำไร ปี 56 5.39 ล้านบาท
รายได้ ปี 65 10,376 ล้านบาท
กำไร ปี 65 4,668 ล้านบาท
บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) – (EA)
มูลค่าบริษัท 247,112 ล้านบาท
รายได้ ปี 56 3,786 ล้านบาท
กำไร ปี 56 203 ล้านบาท
รายได้ ปี 65 8,188 ล้านบาท
กำไร ปี 65 2,071 ล้านบาท
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) – (GPSC)
มูลค่าบริษัท 181,872 ล้านบาท
รายได้ ปี 56 26,369 ล้านบาท
กำไร ปี 56 1,153 ล้านบาท
รายได้ ปี 65 48,511 ล้านบาท
กำไร ปี 65 3,602 ล้านบาท
บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) – (BGRIM)
มูลค่าบริษัท 101,669 ล้านบาท
รายได้ ปี 56 355 ล้านบาท
กำไร ปี 56 28.01 ล้านบาท
รายได้ ปี 65 3,323 ล้านบาท
กำไร ปี 65 1,233 ล้านบาท
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) – (RATCH)
มูลค่าบริษัท 81,562 ล้านบาท
รายได้ ปี 56 51,670 ล้านบาท
กำไร ปี 56 6,514 ล้านบาท
รายได้ ปี 65 81,788 ล้านบาท
กำไร ปี 65 5,782 ล้านบาท
บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) – (EGCO)
มูลค่าบริษัท 80,549 ล้านบาท
รายได้ ปี 56 7,696 ล้านบาท
กำไร ปี 56 3,256 ล้านบาท
รายได้ ปี 65 10,359 ล้านบาท
กำไร ปี 65 6,449 ล้านบาท
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) – (BPP)
มูลค่าบริษัท 40,839 ล้านบาท
รายได้ ปี 56 5,119 ล้านบาท
กำไร ปี 56 4,377 ล้านบาท
รายได้ ปี 65 2,530 ล้านบาท
กำไร ปี 65 1,649 ล้านบาท
*มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ วันที่ 3 พ.ค. 66 **ข้อมูลงบการเงินและผลประกอบการจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และตลาดหลักทรัพย์ แหล่งข้อมูล :
https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Energy-Utilities/Power-Generation/IO/io-power-generation-21
https://www.egat.co.th/home/statistics-all-3rdparty/
https://www.eppo.go.th/index.php/th/electricity/private/ipp
https://www.egat.co.th/home/wp-content/uploads/2022/06/EGAT-Annual-2021_2022-06-22.pdf
https://www.egat.co.th/home/wp-content/uploads/2023/04/EGAT-Annual-Report-2022_2023-04-24.pdf
https://thaipublica.org/2023/03/electricity-availability-payment/
https://www.springnews.co.th/keep-the-world/energy/837859
https://www.dailynews.co.th/news/2074974/
https://www.longtunman.com/41498
Commentaires