top of page

Big Data คืออะไร ? มาเปิดโลกพลังของข้อมูลแบบเข้าใจง่าย!

อัปเดตเมื่อ 5 นาทีที่ผ่านมา

Big Data คืออะไร

เคยสงสัยไหมว่า... ทำไม Netflix ถึงรู้ว่าคุณอยากดูซีรีส์เรื่องถัดไปได้แบบเป๊ะๆ ? แล้วทำไม Spotify ถึงสุ่มเพลงมาให้ถูกใจทุกครั้งที่กดฟัง ?


จริงๆ แล้วคำตอบของเรื่องนี้ ไม่ใช่เวทมนตร์ แต่คือ "Big Data" คลังข้อมูลขนาดมหึมาที่อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา แม้คุณจะไม่เห็นมันด้วยตาเปล่า แต่ความจริงแล้ว เราทุกคนก็ตอบโต้กับมันอยู่แทบจะตลอดเวลา


ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับโลกของ Big Data แบบเข้าใจง่าย แม้ไม่ต้องมีพื้นฐานเทคโนโลยีก็อ่านรู้เรื่อง พร้อมตัวอย่างใกล้ตัวที่จะทำให้คุณเห็นว่า ข้อมูลไม่ใช่แค่เรื่องของ “ตัวเลขเยอะๆ” แต่คือพลังที่เปลี่ยนวิธีคิด การทำงาน และแม้แต่ชีวิตประจำวันของเราไปอย่างไม่น่าเชื่อเลย


Big Data คืออะไร


ความหมายของ Big Data คือ ชุดข้อมูลขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนสูง ซึ่งประกอบด้วยหลายรูปแบบ เช่น ข้อมูลแบบมีโครงสร้าง เช่น ฐานข้อมูลสต็อกสินค้า หรือรายการธุรกรรมทางการเงิน ข้อมูลแบบไม่มีโครงสร้าง เช่น โพสต์บนโซเชียลมีเดีย หรือไฟล์วิดีโอ และข้อมูลแบบกึ่งมีโครงสร้าง เช่น ชุดข้อมูลที่ใช้ฝึกสอนโมเดลภาษาใหญ่ (Large Language Models หรือ LLM) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีขนาดและความซับซ้อนมากเกินกว่าที่เครื่องมือประมวลผลข้อมูลแบบเดิมอย่าง Microsoft Excel จะสามารถจัดการหรือวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


และเมื่อต้องการดึง "Insight" หรือข้อมูลเชิงลึกที่ซ่อนอยู่ในชุดข้อมูลขนาดมหาศาล ธุรกิจจำเป็นต้องอาศัยศาสตร์ด้านข้อมูล (Data Science) และเทคนิคการวิเคราะห์ Big Data (Big Data Analytics) เข้ามาช่วย โดยกระบวนการนี้จะช่วยวิเคราะห์หาความสัมพันธ์และรูปแบบ (Patterns) ในข้อมูล, ค้นพบแนวโน้ม (Trends) และคาดการณ์ผลลัพธ์ในอนาคต (Predictive Analytics) ซึ่งข้อมูลเชิงลึกที่ได้จะถูกนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ ช่วยเพิ่มความแม่นยำ ลดความเสี่ยง และขับเคลื่อนการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ


คุณลักษณะสำคัญของ Big Data

คุณลักษณะสำคัญของ Big Data 5V มีอะไรบ้าง


1.Volume (ปริมาณ)

Volume หมายถึง ปริมาณข้อมูลมหาศาลที่ถูกสร้างขึ้น นับเป็นพื้นฐานของ Big Data หากปริมาณข้อมูลมีเยอะมากพอ ก็สามารถจัดอยู่ในกลุ่มของ Big Data ได้ ปริมาณข้อมูลที่มากขึ้น ช่วยให้สามารถทำการวิเคราะห์ได้ลึกยิ่งขึ้น และสามารถมองเห็นแนวโน้มหรือ Insight ที่ซ่อนอยู่ได้ ซึ่งเรื่องนี้อาจจะมองไม่เห็นหากใช้ชุดข้อมูลขนาดเล็ก


ตัวอย่างเช่น Walmart ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ต้องจัดการธุรกรรมของลูกค้ามากกว่า 1 ล้านรายการต่อชั่วโมง ซึ่งแปลว่า พวกเขาต้องรับมือกับข้อมูลปริมาณมหาศาลตลอดเวลา


2. Velocity (ความเร็ว)

Velocity หมายถึง ความเร็วในการสร้างและประมวลผลข้อมูล ถ้าในโลกของ Big Data คือขุมพลังอันยิ่งใหญ่ ความรวดเร็วในการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก หากองค์กรสามารถจัดการกับข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูง ก็สามารถที่จะตอบสนองต่อแนวโน้มหรือความต้องการของผู้ใช้บริการได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งมันก็จะกลายเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่ทำให้เราเหนือกว่าคู่แข่ง


ตัวอย่างเช่น การแจ้งเตือนธุรกรรมแบบเรียลไทม์ ในแอปพลิเคชัน Mobile Banking เมื่อผู้ใช้ทำธุรกรรม โอนเงิน จ่ายบิล หรือรูดบัตรเครดิต ระบบของธนาคารจะส่งข้อมูลแจ้งเตือนมายังโทรศัพท์อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น แจ้งว่า “โอนเงินเรียบร้อย จำนวน 2,000 บาท ไปยังบัญชี XXX-XXX123-4” หรือ “ชำระเงินด้วยบัตรเครดิตที่ร้านกาแฟ ABC จำนวน 120 บาท เวลา 09:30 น.”


3. Value (คุณค่า)

Value หมายถึง ประโยชน์หรือคุณค่าของข้อมูลที่สร้างให้กับองค์กร ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้สามารถนำไปใช้เพื่อสร้างข้อได้เปรียบ หรือข้อมูลเชิงลึก (Insight) ออกมาได้ ถ้าเราสามารถดึง “Value” จาก Big Data ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าของข้อมูลได้อย่างมหาศาล เพราะคุณค่าของข้อมูลจะถูกนำไปใช้เพื่อช่วยในการตัดสินใจ ปรับปรุงสินค้าบริการ หรือแม้กระทั่งสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับธุรกิจก็ยังได้


ตัวอย่างเช่น Netflix ใช้ Big Data ในการเก็บและวิเคราะห์พฤติกรรมของ Users ผ่านข้อมูลจากรายการหนังหรือซีรีีย์ที่ผู้ใช้งานเคยดูจนจบ หรือดูค้างไว้ รวมถึงการเลื่อนผ่านซีรีย์บางเรื่อง การกด Like ข้อมูลเหล่านี้ถูกรวบรวมและถูกนำมาสร้างเป็น “Personalized User Profile” ที่ผู้ใช้งานแต่ละคนจะเห็นรายการหนังหรือซีรีย์ที่คิดว่า “ใช่” แสดงบนแอปอย่างอัตโนมัติ ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องเสียเวลาในการเลื่อนหาหนังที่อยากดูนานเกินไป


4. Variety (ความหลากหลาย)

Variety หมายถึง ความหลากหลายของรูปแบบข้อมูล ที่ได้รับจากแหล่งต่างๆ เช่น ไฟล์ข้อความ รูปภาพ รายชื่อ สต็อกสินค้า เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้อาจมาจากทั้่งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร การมีข้อมูลที่หลากหลายจะช่วยทำให้องค์กรสามารถเข้าใจบริบทหรือเห็นภาพรวมได้อย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งความท้าทายของเรื่องนี้ ก็คือการทำให้ข้อมูลเหล่านี้สามารถจัดระเบียบได้อย่างเหมาะสม


ตัวอย่างเช่น บริษัทหนึ่งเก็บข้อมูลลูกค้าหลากหลายประเภท ทั้งข้อมูลบันทึกธุรกรรม ข้อความจากโซเชียลมีเดีย อีเมล์ เบอร์โทรศัพท์ หรือ Feedback จากลูกค้า ข้อมูลเหล่านี้มักมาในรูปแบบข้อมูลดิบ (Raw Data) และจำเป็นต้องถูกจัดการก่อนจะนำไปวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป


5. Veracity (ความถูกต้อง)

Veracity หมายถึง คุณภาพและความแม่นยำของข้อมูล ข้อมูลจำเป็นต้องมีความถูกต้องและเชื่อถือได้ เพื่อที่จะได้นำมาใช้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่มีความน่าเชื่อถือ หรือใช้อ้างอิงได้ ซึ่งสำคัญมากสำหรับการถูกนำไปใช้ในการตัดสินใจที่ีมีข้อมูลรองรับ และหลีกเลี่ยงข้อสรุปที่ผิดพลาด จนนำไปสู่ความเสียหายที่มีมูลค่าสูง


ตัวอย่างเช่น วงการแพทย์ หากข้อมูลเกี่ยวกับอาการผู้ป่วยถูกบันทึกไม่ครบถ้วน หรือไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้แพทย์ที่ทำการรักษาอยู่ วินิจฉัยอาการของโรคคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งมันมีผลร้ายแรงโดยตรงต่อผู้ป่วยที่รับการรักษาอยู่


ประโยชน์ของ Big Data ต่อธุรกิจ

ประโยชน์ของ Big Data ต่อธุรกิจ มีอะไรบ้าง


1. ช่วยให้ตัดสินใจอย่างแม่นยำมากขึ้น

Big Data เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็น "Data-Driven Organization" หรือองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เมื่อองค์กรสามารถรวบรวม จัดการ และวิเคราะห์ Big Data ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถค้นหารูปแบบ (Patterns) แนวโน้ม (Trends) และข้อมูลเชิงลึก (Insights) ที่ซ่อนอยู่ในข้อมูลได้ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้การตัดสินใจทั้งในระดับการดำเนินงาน และระดับกลยุทธ์มีความแม่นยำมากขึ้น ลดการตัดสินใจที่เกิดจากการคาดเดา และช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าได้อย่างมั่นใจมากขึ้น


2. สร้างนวัตกรรมหรือฟีเจอร์ใหม่ๆ

Big Data ช่วยให้องค์กรสามารถเก็บข้อมูลและประมวลผลแบบเรียลไทม์ (Real-Time Analytics) เมื่อองค์กรสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ทันที ก็จะสามารถตอบสนองต่อตลาดและความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ยังช่วยในการวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่, การปรับปรุงบริการ และคิดค้นฟีเจอร์ใหม่ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า หรือแม้กระทั่งเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ก่อนคู่แข่ง


3. ปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า

Big Data ช่วยให้องค์กรเข้าใจลูกค้าได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยการรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง ทั้งข้อมูลแบบมีโครงสร้าง เช่น ประวัติการซื้อสินค้า และข้อมูลแบบไม่มีโครงสร้าง เช่น คอมเมนต์ในโซเชียลมีเดีย


การวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ทำให้องค์กรสามารถนำเสนอประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคล (Personalization), สร้างเส้นทางลูกค้า (Customer Journey) ที่สอดคล้องกับความคาดหวัง และสามารถปรับแต่งการให้บริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ส่งผลโดยตรงต่อการสร้างความพึงพอใจและความภักดีของลูกค้า


4. เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

การนำวิธีวิเคราะห์ Big Data Analytics เข้ามาช่วยทำให้กระบวนการดำเนินงานในองค์กรมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อมูลเชิงลึกที่ได้มานั้น ช่วยให้องค์กรสามารถระบุจุดที่มีการสูญเสียทรัพยากรโดยไม่จำเป็น การลดต้นทุนในการดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต รวมไปถึงการปรับปรุงการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ส่งผลให้องค์กรสามารถทำงานได้คล่องตัวขึ้น ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายได้


5. ปรับปรุงการจัดการความเสี่ยง

Big Data Analytics ช่วยให้องค์กรสามารถประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ได้แม่นยำขึ้น ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากในหลากหลายมิติ เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค, เทรนด์ตลาด, หรือแนวโน้มด้านเศรษฐกิจ ช่วยให้องค์กรสามารถคาดการณ์ความเสี่ยงด้านธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ สามารถกำหนดมาตรการป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้า และสร้างกลยุทธ์การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยลดผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ และเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ไม่คาดฝัน


ตัวอย่างการใช้ Big Data


  1. Lazada, Shopee แอปพลิเคชันช้อปปิ้งออนไลน์ ใช้ข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้า เช่น ประวัติการสั่งซื้อ ค้นหาสินค้า แล้วนำเสนอสินค้าที่ตรงกับความชอบหรือความสนใจของผู้ช้งานมากที่สุด

  2. TrueMoney, Rabbit Line Pay ใช้ข้อมูลการทำธุรกรรม เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่าย แล้วนำเสนอเป็นโปรโมชั่นส่วนลดสินค้า เมื่อซื้อสินค้าแล้วจ่ายเงินผ่านแอปเหล่านี้

  3. Netflix หรือ Spotify บริการสตรีมมิ่งในการเก็บข้อมูลการดูหนังหรือฟังเพลงของผู้ใช้งาน เพื่อนำเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับความชอบส่วนตัว ทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากการใช้งาน

  4. การตลาดผ่านการโฆษณาออนไลน์ Facebook Ads หรือ Google Ads เพื่อนำเสนอโฆษณาที่ตรงใจและเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้มากขึ้น เช่น แนะนำสินค้าที่ผู้ใช้เคยค้นหาหรือเคยแสดงความสนใจ

  5. Wongnai เว็บไซต์แนะนำร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยว ใช้ข้อมูลจากการรีวิวและการค้นหาของผู้ใช้ในแต่ละพื้นที่ เพื่อแนะนำร้านอาหารหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคุณภาพตามความชอบและพฤติกรรมของผู้ใช้งานจริง

  6. Lineman, Grab แอปพลิเคชันเดลิเวรี่เจ้าดัง วิเคราะห์พฤติกรรมการสั่งซื้อของลูกค้า เช่น ช่วงเวลาที่ลูกค้าสั่งอาหารบ่อยที่สุด หรือประเภทอาหารที่ได้รับความนิยมในแต่ละวัน เพื่อคัดสรรโปรโมชันหรือสินค้าใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า และส่วนลดพิเศษเมื่อสั่งร้านอาหารร่วมรายการ

  7. Google Maps แอปพลิเคชันนำทาง ที่ใช้ข้อมูลการจราจรแบบเรียลไทม์เพื่อช่วยคำนวณเส้นทางที่ดีที่สุดในการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังจุดหมายปลายทาง โดยมีการใช้ Big Data เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการจราจรจากผู้ขับขี่หลายพันคน



พูดได้เลยว่า Big Data ไม่ใช่แค่เรื่องของบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นแล้ว แต่ Big Data เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ตั้งแต่การดูคอนเทนต์ที่ชอบบนโซเชียลมีเดีย การเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ ไปจนถึงโฆษณาที่ตรงใจแบบไม่น่าเชื่อ ข้อมูลทุกอย่างที่เราสร้าง ทิ้งร่องรอยไว้เสมอ และมีคุณค่ามหาศาล หากนำมาวิเคราะห์อย่างถูกวิธี


และในโลกธุรกิจ Big Data คือ "พลัง" ที่ช่วยให้วิเคราะห์ลูกค้า คาดการณ์แนวโน้ม และตัดสินใจได้แม่นยำยิ่งขึ้น ใครที่เข้าถึงและเข้าใจข้อมูลก่อน ย่อมได้เปรียบกว่าเสมอ โดยคุณอาจจะเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยบทความเกี่ยวกับคำศัพท์ Data สายธุรกิจกันก่อนได้เลย


และหากคุณอยากเริ่มต้นใช้ Big Data ในการพัฒนาธุรกิจ Corpus X คือ เครื่องมือที่ช่วยให้คุณเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของบริษัทต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย คลิกเดียว ก็เริ่มดู Big Data ได้เลย ทดลองใช้ Corpus X วันนี้!! แล้วหาโอกาสใหม่ๆ ในการแข่งขันของคุณกัน

bottom of page